งานบวงสรวงเทศกาลชุงฮุง 2561

งานบวงสรวงเทศกาลชุงฮุง
สมาคมเตชะสัมพันธ์ได้จัดงานบวงสรวงบรรพชน อย่างยิ่งใหญ่เนื่องในเทศกาลชุงฮุงหรือเทศกาลกลางฤดูใบไม้ผลิ1 ณ เตชะบรรพปูชานุสรณ์สถาน ถนนพระราม 3 กรุงเทพ เมื่อวันพุธที่ 21 มีนาคม 2561
สังคมเกษตรกรรม เมื่อครั้งโบราณกาล หลังเทศกาลหง่วงเซียว(วันขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้ายจีน) ถือเป็นการสิ้นสุดวันหยุดยาวและเริ่มทำงาน เทศกาลนี้จึงเป็นเทศกาลแรกในการบวงสรวงขอพรให้การงานสัมฤทธิ์ผล
เนื่องจาก เตชะบรรพปูชานุสรณ์สถานเป็นที่ประดิษฐานพระป้ายของแต่ห่วงกง ต้นตระกูลแซ่แต่ ซึ่งเป็นพระอนุชาของจักรพรรดิซวงอ๊วงแห่งราชวงศ์โจวและพระป้ายของสมเด็จพระพระเจ้าตากสินมหาราชดังนั้น งานบวงสรวงบรรพชนจึงต้องจัดให้สมพระเกียรติตามโบราณราชประเพณี2 ซึ่งมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

เวลา 9.39 น.พิธีเริ่มด้วยประธานและรองประธานประกอบพิธีอัญเชิญบรรพชน ณ ลานหน้าเตชะบรรพปูชานุสรณ์สถาน โดยบอกกล่าวแก่เทพยดาฟ้าดินว่า ขณะนี้เป็นฤกษ์งามยามดีวันเทศกาลชุงฮุง จึงขอจุดธูปหอมอัญเชิญบรรพชนผู้ล่วงลับ ที่สถิต ณ สรวงสวรรค์เสด็จลงมารับเครื่องบวงสรวงที่ผู้สืบสกุลได้จัดเตรียมไว้ให้ตามประเพณี จากนั้น จึงจุดประทัด3 ตีม้าล่อฆ้องชัยให้สัญญาณ กองเกียรติยศนำโดยพระกลดสีเหลืองอมส้มซึ่งเป็นสัญลักษณ์กษัตริย์ โคมประจำตระกูล ป้ายพระนาม ป้ายสำรวม ป้ายหลีกทาง ตามลำดับก็เริ่มเคลื่อนขบวน มีผู้อาวุโสพรมน้ำทับทิมมงคลนำหน้าประธานในพิธีที่ถือธูปแดงเข้าสู่เตชะบรรพปูชานุสรณ์สถาน เหมือนกับที่เคยเห็นในภาพยนตร์เรื่องเปาบุ้นจิ้นที่อัญเชิญพระแสงดาบอาญาสิทธิ์ออกตรวจราชการต่างพระเนตรพระกรรณ
ลำดับแรก เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิธีกรรมเชิญผู้อาวุโสหลายๆท่านของสมาคมฯประกอบพิธีบวงสรวงก่อน
หลังจากนั้นจึงเริ่มพิธีบวงสรวง 3 รอบ(ซำเหี่ยง) เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิธีกรรมเชิญนายกเจริญชัย เติมรัตนกุลล้างหน้าล้างตา ส่องคันฉ่อง จัดผม(จัดหมวก)และเครื่องแต่งกาย เพื่อสำรวมกายใจตามขั้นตอน เพื่อจะได้ทำหน้าที่ประธานประกอบพิธีบวงสรวงอันศักดิ์สิทธิ์แทนผู้สืบสกุลทุกๆคน
โดยเริ่มต้นด้วยการถวายบุปผชาติเป็นการต้อนรับ ตามด้วยสุธารสชาและหมากพลู เข้าทำนอง “เป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ” หรือทางธรรมเนียมจีนระบุว่า “การบวงสรวงเซ่นไหว้ให้ถือเสมือนหนึ่งว่าท่านยังมีชีวิตอยู่ เมื่อครั้งมีชีวิตอยู่ปฏิบัติต่อท่านเช่นใด ก็ให้บวงสรวงต่อท่านเช่นนั้น”
ลำดับต่อไปเซ่นไหว้ด้วยน้ำจัณฑ์ โดยรินน้ำจัณฑ์ในจอกหลั่งรดพสุธา ๓ ครา บูชาเทพยดา (เดิมทีมีพิธีรินโลหิตแพะสดๆหลั่งรดกระถางต้นหญ้า เพื่อบูชาเทพยดาชั้นดิน ) ถวายสุกรย่างทั้งตัว (แพะทั้งตัว ปัจจุบันงดใช้แล้ว) เนื้อสุกรดิบ เนื้อสุกรต้มสุกถวายภักษาหาร ประกอบด้วย เนื้อสุกรต้มสุก ปักษีเบญจคุณธรรม(ไก่ต้ม)4 ศอกหยก(ปลาโอว) กุ้งมังกร
หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิธีกรรมก็เชิญอุปนายกเจ็งหลี แซ่แต้ในนามของตัวแทนผู้สืบสกุลที่ร่วมในพิธีคุกเข่าอ่านสารสดุดีเกียรติคุณบรรพชน กล่าวถึงคุณูปการที่บรรพชนในอดีตจนถึงปัจจุบันได้สร้างให้แก่ชาติบ้านเมือง ผู้สืบสกุลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและพระคุณ จึงขอแสดงกตัญุตากตเวทิตาจัดงานบวงสรวงนี้ขึ้น
ตามด้วยการถวายขนมเข่ง(สื่อความหมายเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง) ขนมกุ้ยไช่รูปท้อแดง(สื่อความหมายอายุมั่นขวัญยืน) ขนมถาดฟู(สื่อความหมายเฟื่องฟูรุ่งเรือง) ขนมจันอับ(สื่อความหมายงอกงามง่ายเหมือนถั่วงา) ซาลาเปา(สื่อความหมายห่อโชคห่อลาภ) ของหวาน(สื่อความหมายหวานชื่น) ผลาผล ๕ ชนิด กระดาษเงินทอง
ลำดับต่อไป เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิธีกรรมก็เชิญอุปนายกสุวิทย์ เฉลิมรัตนาผู้อาวุโสของสกุลเป็นตัวแทนของบรรพชนยืนอ่านสารอำนวพร ขอให้ผู้สืบสกุลปฏิบัติตามแบบอย่างอันดีงามของบรรพชน ชีวิตก็จะเจริญรุ่งเรือง
ลำดับสุดท้าย เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิธีกรรมเชิญประธานผู้ซึ่งเป็นตัวแทนผู้สืบสกุลไปยังโต๊ะอาหารบรรพชนต้นตระกูล เพื่อดื่มน้ำจัณฑ์และรับประทานอาหารของบรรพชนเพื่อความโชคดี หลังจากนั้น ก็เผาสารสดุดีเกียรติคุณบรรพชน สารอวยชัยให้พรและกระดาษเงินกระดาษทอง เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีบวงสรวง 3 รอบอันยิ่งใหญ่อลังการ

ซึ่งตลอดพิธีจะมีการคุกเข่า 3 ครั้ง กราบ 9 ครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงความคารวะขั้นสูงสุดหลายรอบ เป็นอันเสร็จพิธี