techa 6
สมาคมเตชะสัมพันธ์
ประวัติการก่อตั้ง

สมาคมเตชะสัมพันธ์ (泰國鄭氏宗親總會) ถือกำเนิดเมื่อเดือนมีนาคม 2513 โดยผู้ร่วมตระกูลที่พำนักอยู่ฝั่งธนบุรี อาทิ คุณไช่ย้ง คุณเตียงฮง คุณติ้งยู้ คุณตงซื้อ คุณคุงเซี้ย และคุณฉอเม้ง เป็นต้น ท่านเหล่านี้ เล็งเห็นความสำคัญของการก่อตั้งสมาคมผู้ร่วมตระกูล จึงได้รวมตัวกันประชุมหารือเกี่ยวกับการก่อตั้งสมาคม ในที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คุณไช่ย้ง เป็นผู้สนับสนุนด้านเงินทุน ส่วนคนอื่นๆ ช่วยกันออกแรงทำงาน ต่อมา คุณหยู่เฮี้ยง กับ คุณกิ๋งคุงทราบข่าว จึงเข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย จากนั้น ก็ร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินการเตรียมการก่อตั้งอย่างขะมักเขม้น แรกเริ่มเดิมที สถานที่ตั้งของสมาคมอยู่เลขที่ 106/26 ชั้น 3 ของบริษัท หนำฮวด ก่อสร้าง หน้าอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ ธนบุรี หลังจากมีคณะกรรมการเป็นรูปธรรมแล้ว จึงเริ่มประชาสัมพันธ์และติดต่อแนะนำผู้ร่วมตระกูลสมัครเป็นสมาชิก ข่าวก่อตั้งสมาคมแพร่สะพัดอย่างรวดเร็ว ผู้ที่ทราบข่าว นอกจากผู้ร่วมตระกูลในกรุงเทพ ฯ แล้ว จังหวัดเพชรบุรี มีผู้ร่วมตระกูลทยอยมาสมัครเป็นสมาชิกไม่ขาดสาย นอกจากรับสมัครสมาชิกแล้ว ขณะเดียวกัน ก็ดำเนินการจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายไปด้วย เนื่องจากมีผู้สนับสนุนอย่างท่วมทันจึงสามารถให้บริการสมาชิกได้ทันที เริ่มแรกให้บริการช่วยเหลือด้านฌาปนกิจ และงานมงคลต่างๆ ของสมาชิกผู้ร่วมตระกูล อีกทั้งเข้าร่วมขบวนบรรทาทุกข์สาธารณภัยทั่วไป ในฤดูร้อนของปีเดียวกันอาสาสมัครเข้าร่วมขบวนบริการสมาชิกและสาธารณภัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากถึง 40 กว่าคน

คณะกรรมการได้เซ้งตึกแถวสามชั้นสามคูหา ที่สี่แยกลาดหญ้าธนบุรี เมื่อปลายปีของปีเดียวกัน ในราคา 270,000 บาท ค่าตกแต่งอีก 170,000 บาท เมื่อเตรียมการเสร็จสรรพพร้อมพรั่ง จึงได้รายงานให้ ดร.อุเทน เตซะไพบูลย์ คุณเทียม และคุณยุนเส็ก 3 ผู้อาวุโสของผู้ร่วมตระกูลทราบตามลำดับอย่างละเอียดโดยคุณใช่ย้ง เพื่อฟังคำบัญชาต่อไป และเชื้อเชิญ ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ เป็นผู้นำอย่างเป็นทางการ ขณะนั้น ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ มีภาระกิจทั้งส่วนตัวและส่วนรวมมากมาย จึงปฏิเสธ ที่จะรับเป็นผู้นำ แต่จะสนับสนุนกิจการของสมาคมอย่างเต็มที่ ต่อมามีผู้อาวุโสร่วมตระกูลอีกหลายท่านช่วยกันอ้อนวอน ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ ในที่สุด ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ ไม่สามารถขัดศรัทธาของเหล่าผู้ร่วมตระกูลที่มาอ้อนวอนด้วยความจริงใจ จึงได้รวบรวม คุณยุนเส็ก คุณไช่ย้ง คุณอู่ฮั้ว คุณจือซุ้ย คุณกิ้มเลี้ยง คุณฉอง้ำ และคุณก๊กฮั้ว ร่วม 10 กว่าคน ประชุมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในที่สุดมีมติให้ ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ คุณไช่ย้ง คุณก๊กช้วง คุณอู่ฮั้ว คุณฉอง้ำ คุณกี้เลี๊ยก รวม 6 ท่าน เป็นผู้ร่วมจดทะเบียนเป็นสมาคมเตชะสัมพันธ์ ถูกต้องตามกฎหมาย และได้รับใบอนุญาตเป็นสมาคมโดยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 19 เมษายน  2514 ต่อมา ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ ได้เรียก ผู้ร่วมตระกูลประมาณ 10 กว่าคนมาประชุม เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2514 ในที่ประชุม นอกจากเลือกกรรมการ 23 คน แล้วยังเลือก ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ เป็นประธานคณะกรรมการเตรียมการอีกด้วย 

การประชุมครั้งนี้นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าแรกที่จารึกการสิ้นสุดของกรรมการเตรียมการของสมาคมที่มีคุณไช่ย้ง คุณหยูเฮียง คุณกิ้มคุง เป็นผู้นำ และได้มอบหมายให้คณะกรรมการเตรียมการใหม่ซึ่งมี ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ เป็นประธานรับช่วงดำเนินการแทน ต่อไป

การประชุมครั้งนี้มีมติที่สำคัญดังนี้
1. การประชุมครั้งต่อไปเป็นการประชุมครั้งที่ 1 ของคณะกรรมการเตรียมการ
2. ร่างระเบียบการ
3. เปิดรับสมัครผู้ร่วมตระกูลทั่วทุกภาค จำนวน 120 คนเป็นผู้ก่อตั้ง
4. รับมอบงานสวัสดิการที่ผ่านมาทั้งหมด
ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ ผู้อำนวยการคณะกรรมการเตรียมการ เรียกประชุมใหญ่ ผู้ก่อตั้งเป็นประวัติการ ครั้งแรก ที่ชั้น 3 ภัตตาคารห้อยเทียนเหลา กรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2514 เวลา 14.00 น. ผู้เข้าร่วมประชุมมากถึง 140 คน บรรยากาศครึกครื้นที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน มีวาระการประชุมสำคัญที่ผ่านการเห็นชอบในที่ประชุมดังนี้
1. ให้การรับรองคณะกรรมการเตรียมการ ซึ่งประกอบด้วย 23 ท่าน โดยมี ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ เป็นประธาน
2. มีมติให้แนะนำผู้ร่วมตระกูลสมัครเป็นสมาชิก
3. ผู้เข้าร่วมตระกูลร่วมบริจาคเงินกองทุนอย่างล้นหลาม ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ บริจาค 200,000 บาท เป็นคนแรก ผู้ร่วมก่อตั้งอื่นๆ ต่างพากันบริจาคตามอย่างพร้อมเพรียง รวบรวมเงินบริจาคเข้ากองทุนได้ทั้งหมด 1,200,000 บาท
4. เห็นชอบระเบียบการ                                                                                           

เมื่อการประชุมใหญ่ผู้ก่อตั้งสิ้นสุดลง การเตรียมการได้ดำเนินไปอย่างขะมักเขม้น ภายใต้ความสนิทสนมกลมเกลียวของผู้ก่อตั้งต่างตั้งหน้าตั้งตาติดต่อและแนะนำผู้ร่วมตระกูลสมัครเป็นสมาชิกอย่างขยันขันแข็ง งานประชาสัมพันธ์และรับสมัครสมาชิกจึงดำเนินไปอย่างกว้างขวางและได้ผล 

ภาคกลาง : สุพรรณบุรี นครปฐม เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา กรุงศรีอยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี สระบุรี เพชรบุรี ราชบุรี บ้านโป่ง บ้านฉาง สมุทรสาคร อ่างทอง
ภาคตะวันออก : ระยอง จันทบุรี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : สุรินทร์ เลย อุบลราชธานี ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์
ภาคเหนือ : เชียงใหม่ ลำปาง ตาก พิษณุโลก ชุมแสง
ภาคใต้ : นครศรีธรมราช ระนอง ตรัง ยะลา สงขลา ชุมพร ปัตตานี

กิ่งก้านแข็งแรงใบสมบูรณ์

สมาคมเรียกประชุมใหญ่สมาชิกสามัญครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 21 พฤสจิกายน 2514  เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการสมัยที่ 1 ตามระเบียบวาระการประชุม เมื่อได้คณะกรรมการเป็นที่เรีอบร้อยแล้ว ก็เปิดประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 1 ทันที ในที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้บันทึกเกียรติประวัติผู้ร่วมตระกูล คุณไช่ย้ง และสมาชิกผู้ร่วมตระกูลรวม 11 ท่าน เป็นผู้มีคุณงามความดีต่อการเตรียมการก่อตั้งสมาคมไว้ในสมุดประกาศเกียรติคุณ จากนั้น จึงเลือกคณะทำงาน หัวหน้า และรองหัวหน้าในสังกัดคณะกรรมการ อาทิ ฝ่ายสวัสดิการ ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายสันทนาการ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายปฏิคม ฝ่ายไกล่เกลี่ย ฝ่ายสตรี เป็นต้น นอกจากนี้ยังเปิดสำนักงาน รับสมัครสมาชิก 32 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ส่วนต่างจังหวัดมีสำนักงาน ติดต่อดังนี้

สมาคมทำทุกวิถีทางเพื่อความสามัคคีของสมาชิกผู้ร่วมตระกูล บริการสวัสดิการผู้ร่วมตระกูล และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ กิจกรรมประจำมีดังนี้

  1. กราบไหว้บูชาบรรพบุรุษต้นตระกูลฮ้วงกง วีรบุรุษชนชาติจีน อ๋องเซ้งกง วีบุรุษชนชาติไทย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เหล่าบูรพาจารย์ประกอบพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ในฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงของทุกปี
  2. วันเสด็จสวรรคตในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชของทุกปี (28 ธันวาคม) สมาคมร่วมกับหน่วยงานของรัฐประกอบพิธีสักการะวันนี้ของทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปสักการะ ข้าราชการน้อยใหญ่ องค์กรเอกชน และโรงเรียน ต่างร่วมใจกันไปสักการะอย่างพร้อมเพรียงเป็นหมื่นเป็นแสน สมาคมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ตั้งโต๊ะบูชาพร้อมเครื่องสักการะเซ่นไหว้ทุกปี ณ พระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ นายกสมาคม จะนำคณะกรรมการ และผู้ร่วมตระกูลสมาคมตั้งแถวขบวนแห่แหนไปตามถนน จนถึงลานพระอนุสาวรีย์เพื่อแสดงมุทิตาจิตสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณทุกปีโดยไม่เคยว่างเว้น 3. ให้บริการสวัสดิการผู้ร่วมตระกูล ช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาท งานมงคล และฌาปนกิจของสมาชิกผู้ร่วมตระกูล
  3. ช่วยเหลือสงเคราะห์สมาชิกผู้ร่วมตระกูลที่ยากไร้ ประสบอัคคีภัย หรือเจ็บไข้ได้ป่วย
  4. บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ บริจาคเงินสงเคราะห์ผู้ประสบภัยพิบัติ
  5. ส่งเสริมกิจกรรมสันทนาการต่างๆ เพื่อสุขภาพจิตและพลานามัย จัดนิทรรศการภาพเขียน คอนเสิร์ต และจัดตั้งสำนักทายปริศนา เป็นต้น
  6. มีการประชุมใหญ่สามัญสมาชิกปีละครั้ง จัดงานราตรีสโมสรผู้ร่วมตระกูล 2 ปี 1 ครั้ง ทุกครั้งมีสมาชิกเข้าร่วมงานมากถึง 4-5 พันคน บรรยากาศในงานอบอุ่นครึกครื้น กระชับความสัมพันธ์ของสมาชิกผู้ร่วมตระกูลให้รู้จักสามัคคี สนิทสนมกลมเกลียวและแน่นแฟันยิ่งขึ้น

ผลิตอกออกผล

คณะผู้แทนสมาคมตระกูลแต้ไต้หวันมาเยือนประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2614 (ค.ศ. 1971) นอกจากเยือนประเทศไทยแล้วยังจะไปเยือนผู้ร่วมตระกูลทั่วเอเชียอาคเนย์ด้วย เพื่อกระชับความสัมพันช์และเชิญชวนผู้ร่วมตระกูลแต้ของประเทศต่างๆ เข้าร่วมงานราตรีสโมสรผู้ร่วมตระกูลแต้ทั่วโลก จัดขึ้นที่ไทเป เพื่อประชุมหารือจัดตั้งสมาคมสหพันธ์ผู้ร่วมตระกูลแต้สากลอย่างเป็นทางการ สมาคมทราบข่าวจึงจัดคณะผู้แทนไปร่วมประชุมทันที โดยมีคุณยุนเส็ก อุปนายกสมาคม เป็นหัวหน้าคณะ นำผู้ร่วมคณะรวม 34 คนไปร่วมประชุม จัดตั้งสมาคมสหพันธ์ผู้ร่วมตระกูลแต้สากล เมื่อวันที่ 6 ดุลาคมของปีเดียวกัน เพื่อเป็นศูนย์กลางบริการสวัสดิการผู้ร่วมตระกูลทั่วโลก คณะผู้แทนได้ไปเยือนผู้ร่วมตระกูลที่ฮ่องกง ขณะเดินทางกลับประเทศไทย

พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974) สมาคมจัดคณะผู้แทนไปร่วมประชุมคณะกรรมาธิการบริหารสหพันธ์ผู้ร่วมตระกูลแต้สากลที่ไทเป โดยมีคุณไช่ย้ง อุปนายก เป็นหัวหน้าคณะ นำผู้ร่วมคณะรวม 8 คนไปร่วมประชุมที่ไทเป เมื่อวันที่ 27 เมมายนของปีเดียวกัน เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมได้เดินทางไปร่วมพิธีสักการะรำลึกวีรบุรุษแต้เซ็งกง ผู้กอบกู้เอกราชไต้หวัน ครบรอบ 313 ปี
พ.ศ. 2521 (ค.ศ. 1987) สมาคมจัดคณะผู้แทนเดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมาธิการบริหารสมาคมสหพันธ์ผู้ร่วมตระกูลแต้สากลครั้งที่ 1  ที่ไทเป โดยมีคุณไช่ย้ง อุปนายก เป็นผู้นำคณะรวม 32 คน ไปร่วมประชุมเมื่อวันที่ 4 ตุลาคมของปีเดียวกัน ขณะเดียวกันได้ไปร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์วิหารย่งเอี๊ยงบรรพปูชานุสรณ์สถาน และงานฉลองศาลเจ้าวีรบุรุษแต้เซ้งกง ครบรอบ 50 ปี ขณะเดินทางกลับประเทศได้ไปเยือนผู้ร่วมตระกูลที่ฮ่องกง
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2523 (ค.ศ. 1980) สมาคมจัดคณะผู้แทนไปเยือนผู้ร่วมตระกูลที่กัวลาลัมเปอร์และสิงคไปร์ เลือดย่อมเข้มกว่าน้ำ ได้รับการต้อนรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง การเดินทางครั้งนี้ คุณไช่ย้ง อุปนายก เป็นหัวหน้าคณะ โดยมีผู้ร่วมตระกูลรวม 13 คน หลังเสร็จสิ้นภารกิจ เดินทางต่อไปฟิลิปปินส์ ร่วมงานฉลองตระกูลแต้ย่งเอี๋ยง ครบรอบ 13 ปี พร้อมกันนี้ได้ร่วมงานราตรีสโมสร สหพันธ์ผู้ร่วมตระกูลแต้สากลครั้งที่ 2 ด้วย
พ.ศ.2524 (ค.ศ. 1981) จัดคณะไปร่วมงานราตรีสโมสร สหพันธ์ผู้ร่วมตระกูลแต้สากลครั้งที่ 3 และพิธีรำลึกวีรบุรุษแต้เซ้งกง ผู้กอบกู้เอกราชไต้หวันครบรอบ 320 ปี ที่ไถ่น้ำ คุณกิ้มเลี้ยง อุปนายกสมาคม เป็นหัวหน้าคณะ นำผู้ร่วมตระกูลรวม 13 คนไปร่วมงาน ก่อนกลับประเทศไทยแวะไปเยือนผู้ร่วมตระกูลที่ฮ่องกง
พ.ศ. 2525 (ค.ส. 1982) จัดคณะไปร่วมงานราตวีสโมสร สหพันธ์ผู้ร่วมตระกูลแต้สากลครั้งที่ 4 ที่ไทเป เนื่องจากครั้งนี้หัวหน้คณะคือ นายกสมาคม ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ ได้รับการต้อนรับอย่างเอิกเกริกทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง มาเยื่ยมคารวะมากมาย ถือว่าได้รับเกียรติอย่างสูง ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุม ได้รับการชื่นชมจากสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง ว่าเป็นวาทะที่เปล่งออกมาจากใจ เป็นเสียงสวรรค์สำหรับชาวจีนโพ้นทะเลโดยแท้จริง

สุนทรพจน์ในงานราตรีสโมสร สหพันธ์ผู้ร่วมตระกูลแต้สากลครั้งที่ 4 ของ ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ นายกสมาคม มีดังนี้ :
ประธาน ผู้ร่วมตระกูลชาวจีนโพ้นทะเล และท่านผู้มีเกียรติ คณะผู้แทนผู้ร่วมตระกูลสมาคมเตชะสัมพันช์แห่งประเทศไทย มีโอกาสมาร่วมงานราตรีสโมสร สหพันธ์ผู้ร่วมตระกูลแต้สากลครั้งนี้ และได้รับการเลือกให้เป็นผู้แทนผู้ร่วมตระกูลโพ้นทะเล กล่าวคำปราศรัยในที่ประชุมด้วย เราคณะผู้แทนผู้ร่วมตระกูลจากประเทศไทยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ปกติผมไม่ค่อยมีโอกาสใช้ภาษาจีนกลางกล่าวคำปราศรัยในที่ประชุม ดังนั้น ภาษาจีนกลางจึงพูดได้ไม่ค่อยคล่อง แต่เมื่อท่านทั้งหลายให้เกียรติอุปโลกน์ ผมขึ้นกล่าวคำปราศรัย ผมจึงขอน้อมรับด้วยความยินดี วันนี้ผมจะขอกล่าวในนาม 4 สถานภาพด้วยกัน
ข้อ 1 ผมเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมเตชะสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ในตำแหน่งอุปนายก แต่การเตรียมการในครั้งนี้ ผมไม่มีส่วนร่วมแม้แต่น้อย ล้วนอาศัยนายกและกรรมการบริหารสมาคมออกทั้งแรงกายแรงใจและเงินทุน เตรียมการด้วยความลำบากยากเย็น จึงบรรลุความสำเร็จ เป็นคณะผู้แทนผู้ร่วมตระกูลในประเทศไทยที่เอิกเกริกอย่างที่เห็น ความชอบ ธรรมอันนี้ผมขอกล่าวคำขอบคุณด้วยความจริงใจไว้ ณ โอกาสนี้
ข้อ 2  ผมขอกล่าวในนามผู้ร่วมตระกูลโพ้นทะเล ที่มีโอกาสมาร่วมประชุมที่ไทเปครั้งนี้ ได้รับการต้อนรับจากผู้ร่วมตระกูลสหพันธ์ฯ อย่างสะดวกสบายและอบอุ่น ผมและผู้ร่วมคณะจะจดจำความประทับใจของการประชุมที่ยิ่งใหญ่และอบอวลด้วยกลิ่นไอของการต้อนรับด้วยความสนิทสนม ชิดเชื้อฉันท์ญาติพี่น้องในบ้านเกิด จะถ่ายทอดความรู้สึกอันนี้ให้กับผู้ร่วมตระกูลทุกภูมิภาค รับรู้ว่าการประชุมครั้งนี้เป็นวาระการประชุมเพื่อเตรียมการก่อสร้างบรรพปูชานุสรณ์สถาน สหพันธ์ตระกูลแต้ที่ยิ่งใหญ่ เราผู้ร่วมตระกูลทั้งหลายต้องร่วมมือร่วมแรงน้ำหนึ่งใจเดียว ช่วยกันสนับสนุนการก่อสร้างในครั้งนี้ให้บรรลุผลโดยเร็ว

ข้อ 3 ผมขอกล่าวในนามผู้แทนของผู้ร่วมตระกูลในประเทศไทย สมาคมเตชะสัมพันธ์แห่งประเทศไทยก่อตั้งได้ 10 ปีแล้ว ทุกครั้งที่มีการจัดงานราตรีสโมสร สหพันธ์ผู้ร่วมตระกูล เราได้จัดคณะผู้แทนผู้ร่วมตระกูลในประเทศไทยมาร่วมงานทุกครั้งไม่ว่าจะมาร่วมในนามส่วนตัวหรือหมู่คณะก็ตาม ล้วนได้รับการต้อนรับด้วยการเลี้ยงดูปูเสื่อฉันท์ญาติพี่น้องอย่างอบอุ่น ดังนั้น วันนี้ผมจึงขอกล่าวขอบคุณอย่างยิ่งแทนผู้ร่วมตระกูลในประเทศไทยด้วยความจริงใจไว้ ณ โอกาสนี้

ข้อ 4 อีกสักครู่ สมาคมผู้ร่วมตระกูลจะมีพิธีมอบรางวัล ผมก็ได้รับเกียรตินี้ด้วย ดังนั้น ผมในนามผู้ได้รับรางวัล ขอขอบคุณสมาคมสหพันธ์ที่มอบรางวัลอันทรงเกียรตินี้ให้ผม นับเป็นความตื้นเต้นประทับใจและภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต

ผมขออนุญาตรายงานต่อไปนี้คือ เราชาวจีนใพ้นทะเลทั้งหลายถึงแม้ไม่ใด้รับความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจจากรัฐบาลก็ตาม แต่เรายังสามารถดำรงชีวิตได้ ไม่เพียงแต่สามารถดำรงชีพได้ เรายังสามารถพัฒนาความก้าวหน้าให้กับสังคมด้วยความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว เราผู้ร่วมตระกูลกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า อาศัยจิตสำนึกที่ปลูกฝังมาแต่บรรพบุรุษของชนชาติจีนสองประการคือ ความสัมพันธ์ทางสายเลือดและความผูกพันธ์ทางแผ่นดิน ผมจะขอกล่าวความผูกพันธ์ทางแผ่นดินก่อน เราชาวจีนโพ้นทะเลเมื่อได้ยินหรือได้ข่าวว่าท่านเป็นคนบ้านเดียวกัน ก็ยินดีปรีดา ให้การนับสนุนช่วยเหลือเกื้อกูลอย่างเอาใจใส่ ความผูกพันธ์บนผืนแผ่นดินที่อยู่อาศัยที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนย่อมส่งผลให้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือเกื้อกูล และสามัคคีปรองคองกันด้วยจิตวิญญาณที่เกิดขึ้นตามสัญชาตญาณ
ส่วนความสัมพันธ์ทางสายเลือด ก่อนที่เรายังไม่ให้จัดตั้งสมาคมผู้ร่วมตระกูลนั้น เราชาวจีนโพ้นทะเล เมื่อได้พบปะกับคนแซ่เดียวกัน ก็ดีใจเหมือนได้พบกับคนในครอบครัวเดียวกัน ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกันพัลวัน จากความสัมพันธ์อันนี้ค่อยๆ ส่งผลให้ไม่ว่าจะเป็นการส่วนตัวทางเศรษฐกิจ การค้า หรือภารกิจอื่นๆ สามารถพัฒนาร่วมกันให้บุรรลุถึงจุดหมายได้โดยไม่ยากเย็น หากจะเปรียบเทียบความผูกพันธ์ของสองสถานภาพนี้ ความผูกพันธ์ทางสายเลือดอาจมีความสำคัญกว่าทางแผ่นดิน ยกตัวอย่างเช่นวันนี้ เราทั้งหลาย ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยรู้จักกัน หลังจากพบหน้ากันแล้วมีความรู้สึกอบอุ่นสนิทสนมกลมเกลียวเป็นพิเศษ ดังนั้นผมเห็นว่า เราทั้งหลายต้องรู้รักสามัคคีและหวงแหนความผูกพันธ์ทางสายเลือดอันนี้ให้มั่นคง เช่นเดียวกับคำชี้แนะของนายกสมาคมที่กล่าวไว้เมื่อสักครู่ว่า “สามัคคี ศักดิ์ศรีผู้ร่วมตระกูล รักชาติ” ก่อนอื่นเราต้องปลูกจิตสำนึกผู้ร่วมตระกูลหันมาสามัคคีกัน เพราะสามัคคีคือบ่อเกิดแห่งพลัง จากนั้นร่วมมือกันหยิบยื่นสวัสดิการให้ผู้ร่วมตระกูลและสังคมประเทศชาติ ตลอดจนโลกของเราอย่างเต็มภาคภูมิ

เรื่องที่สอง คือ ศักดิ์ศรีผู้ร่วมตระกูล เราทุกคนมีหน้าที่ส่งเสริมผู้ร่วมตระกูลให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งๆขึ้น ผู้ร่วมตระกูลของเราจะได้เข้มแข็ง ทุกคนสามารถยืนหยัดด้วยลำแข้งของตัวเอง สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นได้ รักใคร่ปรองดองผู้ร่วมตระกูลตลอดไป ส่วนรักชาตินั้น เราผู้ร่วมตระกูลโพ้นทะเลนอกจากรักประเทศชาติแล้ว ยังต้องรักแผ่นดินที่ให้เราอยู่อาศัยอีกด้วย เนื่องจากที่นั้นช่วยชุบชีวิตของเราให้อยู่เย็นเป็นสุข ประกอบสัมมาอาชีพอย่างเสรี มีธุรกิจตกทอดมารุ่นแล้วรุ่นเล่า ช่วยพัฒนาแผ่นดินที่เราอยู่อาศัยให้เจริญรุ่งเรืองตลอดไป ผมจำได้ว่าเมื่อ 10 ปีก่อน คณะสื่อมวลชนโทรทัศน์ญี่ปุ่นมาสัมภาษณ์ผมถึงประเทศไทย ถามผมว่าชาวจีนโพ้นทะเลมีความรู้สึกเช่นใดต่อประเทศจีนและประเทศที่ให้แผ่นดินเราอยู่อาศัย

ผมตอบว่า เราย่อมรักประเทศจีนของเรา แต่เรายิ่งต้องรักประเทศที่ให้แผ่นดินเราอยู่อาศัยอย่างไม่ต้องสงสัย ผมเปรียบเปรยเช่นนี้เสมอว่า เราชาวจีนโพ้นทะเลและชาวไทยเชื้อสายจีนเสมือนกับเป็นลูกสาวที่ออกเรือนแล้ว ถือว่าประเทศที่ให้แผ่นดินเราตั้งรกราก ตลอดชีวิตนั้นเปรียบเสมือนบ้านสามี ส่วนประเทศจีนคือบ้านแม่ การรักบ้านแม่เป็นเรื่องสัญชาตญาณของมนุษย์ ดังนั้น ชาวจีนโพ้นทะลรักประเทศจีนมาก สถิติในการช่วยเหลือมาตุภูมิ มีการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์คณานับ แสดงให้เห็นว่าคนเรารักมาตุภูมิโดยไม่มีเงื่อนไข รักด้วยจิตสำนึกไม่หวังสิ่งตอบแทนทั้งสิ้น ดังนั้น ไม่ว่าเป็นมาตุภูมิหรือประเทศที่เราอยู่อาศัยก็ตาม เราต้องรักทั้งสองประเทศ ผมเปรียบเทียบเช่นนี้ สื่อมวลชนชาวญี่ปุ่นชื่นชมมาก ด้วยเหตุนี้ ผมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านทั้งหลายคงเห็นใจที่เราชาวจีนโพ้นทะเลและชาวไทยเชื้อสายจีนจะรักประเทศที่ให้แผ่นดินเราอยู่อาศัย

ท้ายนี้ ผมในนามสมาคมเตชะสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ขอรายงานต่อคณะกรรมการสมาคมสหพันธ์ว่า เมื่อเตชะบรรพปูชานุสรณ์สถานสร้างเสร็จในปีหน้า ขอเรียนเชิญท่านทั้งหลายไปร่วมงานราตรีสโมสร สหพันธ์ผู้ร่วมตระกูลแต้สากลครั้งที่ 5 ที่เราเป็นเจ้าภาพและร่วมพิธีเปิดเตชะบรรพปูชานุสรณ์สถานแห่งประเทศไทย หวังว่าท่านทั้งหลายคงให้เกียรติไปร่วมงาน เพื่อเปิดโอกาสให้เราได้ตอบแทนการต้อนรับที่อุ่นหนาฝาคั่งครั้งนี้ด้วยน้ำใสใจจริง

ท้ายนี้ ผมขอขอบคุณท่านทั้งหลายอีกคำรบหนึ่ง ขออำนวยพรให้ท่านทั้งหลายจงมีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ ธุรกิจเจริญก้วหน้าตลอดไป ขอบคุณครับ

ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ นายกสมาคม มีกุศโลบายที่แยบยลเพื่อผลักดันกิจการของสมาคมให้ก้าวหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมจีนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จึงเสนอจัดพิมพ์หนังสือวารสาร “ข่าวสารสมาคม” ต่อคณะกรรมการ โดยให้ฝ่ายวิชาการและฝ่ายประชาสัมพันธ์ไปจัดพิมพ์ออกแจกจ่ายให้สมาชิกผู้ร่วมตระกูลอ่าน ได้รับความนิยมชมชอบมาก เนื้อหาในวารสาร “ข่าวสารสมาคม” รายงานการทำงานของสมาคมให้สมาชิกผู้ร่วมตระกูลทราบ แนะนำคำสอนของบรรพบุรุพตระกูลแต้เพื่อเป็นแบบอย่างในการเจริญรอยตามบรรพบุรุษ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เสนอความสำเร็จด้านธุรกิจของผู้ร่วมตระกูล อีกทั้งมีคอลัมน์ “สวนฝึกเรียงความ” เพื่อส่งเสริมบุตรหลานของผู้ร่วมตระกูลใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์ รักการอ่าน และสนุกกับการฝึกทักษะต่องานเขียนวรรณศิลป์ จัดตั้งทุนการศึกษาให้กับบุตรหลานของผู้ร่วมตระกูลที่เรียนดี มีความประพฤติเรียบร้อย เป็นการส่งเริมให้เด็กขยันหมั่นเพียร แสวงหาความก้าวหน้า และตระหนักอยู่เสมอว่า หากได้รับทุนการศึกษา นอกจากจะแสดงว่าตนเรียนเก่งแล้ว ยังนำมาซึ่งเกียรติประวัติของวงศ์ตระกูลอีกด้วย ดังนั้น การมอบทุนการศึกษาไม่เพียงแต่ส่งเสริมการศึกษา ยังฟูมฟักให้บุตรหลานเพียบพร้อมด้วยความรู้คู่คุณธรรม พ.ศ. 2515 (ค.ศ. 1972) เป็นปีแรกที่ทางสมาคมมอบทุนการศึกมาให้เป็นครั้งแรก

ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ นายกสมาคม มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เล็งเห็นความยั่งยืนสถาพรและรักษาไว้ซึ่งความสดใสที่มีชีวิตชีวาขององค์กร จะต้องมีทายาทรับช่วงสืบสานเจตนารมณ์ขององค์กรต่อไปโดยไม่ขาดสาย ด้วยเหตุนี้ จึงได้จัดเลี้ยงสังสรรค์บุตรหลานของผู้ร่วมตระกูลที่จบการศึกมาด้วยทุนการศึกษาของสมาคมที่ชั้น 14 ของธนาคารศรีนคร เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2524 เพื่อฉลองความสำเร็จในการศึกมา ในงานเลี้ยง ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ ให้เกียรติร่วมโต๊ะด้วย ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบด้วยความรักและอาทร ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่มีเมตตาจิต โอบอ้อมอารี ให้การส่งเสริมชนรุ่นหลังอยู่เป็นนิตย์ ในงานเลี้ยงท่านได้ยกปัญหาขึ้นมาถกกับคนหนุ่มสาว ในที่สุด ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าคนเราดำรงชีพอยู่ในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวหน้าอย่างฉับไวในปัจจุบัน หากไม่แสวงหาความรู้ความก้าวหน้าแล้ว เราจะต้องถูกกระแสของยุคโลกาาภิวัตน์ทอดทิ้งอย่างแน่นอน อนึ่งการสืบทอดภารกิจจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง รุ่นแล้วรุ่นเล่าโดยไม่จบสิ้น จำเป็นต้องอบรมบมเพาะคนรุ่นหลังให้รู้จักสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน แสวงหาความรู้ความก้าวหน้าโดยไม่หยุดยั้ง คนหนุ่มสาวจึงสามารถเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงคุณค่า ยืนหยัดอยู่ในยุคข่าวสารที่ไร้พรมแดนได้อย่างสง่างาม หากจะไปให้ถึงดวงดาว ยังต้องร่วมแรงร่วมใจกันสมัครสมานสามประสานคือ ปัจฉิมวัย มัจฌิมวัย และปฐมวัย ช่วยกันศึกษาใช้ทฤษฎีเป็นเข็มทิศนำปฏิบัติการขับเคลื่อนกิจการสมาคมไปข้างหน้าด้วยความมุ่งมั่น จึงจะสามารถบรรลุปณิธานที่ตั้งไว้ 

การก่อตั้งสมาคม แม้จะล่าช้กว่าสมาคมผู้ร่วมตระกูลอื่นๆ ก็ตาม แต่เราได้รับบุญญาบารมีจากบรรพบุรุษปกป้องคุ้มครอง โดยมี ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ นายกสมาคมที่เปี่ยมด้วยคุณวุฒิและคุณธรรมเป็นผู้นำ ประกอบกับคณะกรรมการทุกยุคทุกสมัยร่วมมือกันปฏิบัติภารกิจอย่างเข้มแข็ง จึงได้บังเกิดผลสำเร็จอย่างงดงาม ดั่งคำพูดที่กล่าวกันว่ามาทีหลังดังกว่า เรามีเตชะบรรพปูชานุสรณ์สถานที่โอ่อ่าอลังการเป็นประจักษ์ เป็นประติมากรรมล้ำค่าที่ยิ่งใหญ่ ตั้งตระหง่านอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเข้าพระยาอย่างโดดเด่น เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ประกอบพิชีสักการะบรรพบุรุษตามฤดูกาลทุกปี สิ่งที่สำคัญคือเป็นเครื่องเตือนใจปลุกจิตสำนึกให้รู้จักหวงแหนมรดกที่บรรพบุรุมสั่งสมไว้  นอกจากเป็นศักดิ์ศรีของสมาคมเตชะสัมพันธ์แล้วยังเป็นเกียรติภูมิของชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทยอีกด้วย

 สถิตสถาพร

การก่อสร้างเตชะบรรพปูชานุสรณ์สถาน

ฤดูใบไม้ผลิ พ.ศ. 2513 (ค.ศ.1970) ผู้ร่วมตระกูลแต้ในประเทศไทยรวมตัวกันก่อตั้งสมาคมเตชะสัมพันธ์ ในที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เลือก ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการเตรียมการก่อสร้าง วันที่ 21 พฤสจิกายนของปีเดียวกัน เป็นวันสถาปนาสมาคมเตชะสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกันก็เปิดประชุมใหญ่สมาชิกครั้งที่ 1 ในที่ประชุมเลือก ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมสมัยที่ 1 (ท่านดำรงตำแหน่งนายกสมาคมติดต่อกัน 11 สมัยๆ ละ 2 ปี) ภายใต้การนำของ ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ นายกสมาคม ได้เริ่มลงมือก่อสร้างเตชะบรรพปูชานุสรณ์สถานใน ค.ศ.1979 เมื่อสร้างเสร็จและประกอบพิธีเปิดอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 1983

ขณะเตรียมการก่อสร้างเตชะบรรพปูชานุสรณ์สถาน มีหลายสิ่งหลายอย่างสร้างความหนักใจไม่น้อย อาทิ การสรรหาสถานที่ การซื้อที่ดิน การตั้งฐานนิรมิต การเปิดหน้าดินก่อสร้าง การตกแต่งภายใน ล้วนต้องระดมบุคลากรมาช่วยกันวางแผน แม้จะมีอุปสรรคอยู่บ้างก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรง ในที่สุดก็ฝ่าฟันลุล่วงไปด้วยดี

หลังจาก ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ นายกสมาคม ดำรงตำแหน่งไม่นานก็นำคณะกรรมการและผู้ร่วมตระกูลวางแผนเตรียมการก่อสร้างเตชะบรรพปูชานุสรณ์สถาน ก่อนอื่นต้องสรรหาสถานที่เหมาะสม ดูมาหลายแห่งแต่ไม่ถูกใจ ครั้น ค.ศ.1979 มีคนแนะนำที่ดินที่พระราม 3 ตอนกลาง กว้าง 4 ไร่ ติดต่อหลายต่อหลายครั้ง ราคาตกลงกันเรียบร้อย ครั้นใกล้ถึงวันนัดหมายลงนามซื้อขายเจ้าของที่ดินรู้ว่าผู้ซื้อคือสมาคมเตชะสัมพันธ์จึงขอขึ้นราคาทันที ทางสมาคมเห็นว่าเจ้าของที่ไม่รักษาคำพูดเอาแต่ได้ จึงหันไปหาที่อื่นแทน

วันหนึ่งตอนเที่ยง คณะกรรมการสมาคมกำลังประชุมอยู่ที่ชั้น 14 ของธนาคารศรีนคร คุณอุทธรณ์ เตชะไพบูลย์ (น้องชายคนที่ 6 ของ ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์) เข้ามาโดยบังเอิญรู้ข่าวว่า คณะกรรมการกำลังหารือเรื่องที่ดินก่อสร้างเตชะบรรพปูชานุสรณ์สถาน จึงบอกว่าตนมีที่ดินแถวพระราม 3 เหมือนกัน กว้างประมาณ 10 ไร่ ยินดีขายให้ในราคาพิเศษ ทุกคนต่างยินดีปรีดาเนื่องจากที่ดินผืนนี้ทำเลดีกว่าเก่าอีกหลายเท่า

เมื่อได้ที่ดินเป็นที่ถูกใจแล้วคณะกรรมการจึงให้สถาปนิกที่เชี่ยวชาญออกแบบการก่อสร้าง และให้ซินแสผู้เชี่ยวชาญศาสตร์ฮวงจุ้ยใช้เข็มทิศฮวงจุ้ยกำหนดทิศทางและที่ตั้งของชัยภูมิ ซินแสฮวงจุ้ยในประเทศไทย ล้วนเห็นตรงกันว่าบรรพปูชานุสรณ์สถานต้องหันไปทางทิศตะวันออก ตรงกับแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะที่ทุกคนกำลังจะออกความเห็น คุณยุงเส็ก อุปนายกสมาคม จึงเอ่ยขึ้นว่า “การดูทิศทางของที่ตั้งเป็นสิ่งสำคัญ มีผลต่อลูกหลานรุ่นหลังจะมีความเจริญรุ่งเรืองหรือไม่ ต้องตรึกตรองให้ดี ก่อนตัดสินใจ ทางที่ดีเชิญซินแสฮวงจุ้ยที่ฮ่องกงมาดูจะดีกว่า” ทุกคนได้ฟังดังนั้นก็เห็นด้วย ดังนั้นจึงได้ไหว้วาน ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ นายกสมาคม เขียนจดหมายไปเชิญซินแสฮวงจุ้ย ฉั่วแป๊ะหลี ที่ฮ่องกงมาคำนวณดู ฉั่วแป๊ะหลี เป็นซินแสฮวงจุ้ยอันดับหนึ่งของฮ่องกง หลังจากซินแสฉั่วแป๊ะหลี สำรวจดูอย่างพินิจพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เตชะบรรพปูชานุสรณ์สถานควรหันไปทางถนนใหญ่ (ทิศตะวันตก) ถึงจะเป็นร่มโพธิ์รมไทรของลูกหลาน ต่อไปภาคหน้าลูกหลานจะได้รุ่งโรจน์ชัชวาล ทั้งร่ำรวยทรัพย์สินเงินทองและอายุยืนยาว คณะกรรมการได้ยินได้ฟังก็ยินดีปรีดากันถ้วนหน้า เห็นด้วยกับคำทำนายของซินแสทุกประการ

เมื่อทิศทางและที่ตั้งของเตชะบรรพปูชานุสรณ์สถานเห็นชอบเป็นเอกฉันท์แล้ว กรรมการทั้งหลายต่างช่วยกันไปสรรหาต้นแบบบรรพปูชานุสรณ์สถานจากที่ต่างๆ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการพิจารณาเลือกสรร ในที่สุดจึงเห็นพ้องต้องกันว่าใช้บรรพปูชานุสรณ์สถานของยกจงกง ที่หมู่บ้านซัวเล่ง อำเภอแต้เอี๊ย เป็นต้นแบบ เพียงแต่ขยายขนาดให้กว้างใหญ่ขึ้น ดัดแปลงนิดหน่อยก็เป็นอันใช้ได้ ค.ศ. 1980 ประกาศรับประมูล ปรากฎว่าบริษัท คูสี่ฮี่ การก่อสร้า งประมูลได้ เนื่องจากบริษัทก่อสร้างมีมาตรฐาน มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ ไม่ว่าจะเป็นการเทปูน ก่ออิฐ แกะสลักไม้ แกะสลักหิน แกะสลักนูน และฝีมือในการลงรักปิดทองล้วนเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปว่าเป็นยอดฝีมืออันดับหนึ่ง

ระหว่างการก่อสร้างเตซะบรรพปูชานุสรณ์สถานอยู่นั้น ที่ดินริมถนนใหญ่มีบางส่วนยังซื้อไม่ได้ มีคนทราบข่าวว่าเราจะสร้างเตชะบรรพปูชานุสรณ์สถานก็เลยมาแย่งซื้อไว้เพื่อโก่งราคา แต่เราก็ไม่รอช้า วิ่งเต้นติดต่อขอซื้อกับเจ้าของที่ดินก่อน แม้จะมีอุปสรรค นานัปการ เดชะบุญบารมีของบรรพบุรุษปกป้องคุ้มครอง จึงสามารถซื้อที่ดินส่วนนั้นได้โดยไม่ยากเย็นนัก ดังนั้นลานบรรพปูชานุสรณ์สถาน ด้านหน้าริมถนนจึงเป็นแนวยาวกว้างเป็นรูปลี่เหลี่ยมผืนผ้าขนานกับถนนใหญ่ ดูแล้วมีความรู้สึกว่าเป็นสง่าราศี

ส่วนด้านหลังตลิ่งของบรรพปูชานุสรณ์สถานที่ประชิดแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากถูกน้ำเซาะตลอดวัน หากไม่ทำการถมที่ดินแล้วสร้างทำนบกั้นน้ำ เกรงว่านานวันเข้าตลิ่งจะพัง อาจได้รับความเสียหาย ดังนั้น จึงได้ให้เจ้าหน้าที่สมาคมไปขออนุญาตต่อกรมเจ้าทำ เพื่อก่อสร้างทำนบ ในที่สุดกรมเจ้าทำก็ออกใบอนุญาตให้ ต่อมาไม่นานถมดินสร้างทำนบเป็นลานกว้างยาว 110 เมตร สามารถใช้เป็นลานสันทนาการเอนกประสงค์ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งมีทิวทัศน์ที่สวยสดงดงามเป็นที่เจริญหูเจริญตาไม่น้อย

ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ นายกสมาคม ถือว่าต้นตระกูลของเราเป็นทายาทของราชวงศ์โจวเมื่อ 3,000 ปีก่อน สมควรสร้างกำแพง 9 มังกรประดิษฐาน ณ หน้าบรรพปูชานุสรณ์สถาน บ่งบอกถึง ต้นตระกูลกำเนิดมาจากเหง้าที่สูงศักดิ์ แต่มีกรรมการบางคนมีความเห็นขัดแย้งกันเข้าใจว่า “แม้ว่าต้นตระกูลจะเป็นพระราชโอรสของราชวงศ์โจวก็ตาม แต่ไม่ใช่ฮ่องเต้ เท่าที่รู้ผู้ที่จะประดิษฐานกำแพง 9 มังกรไว้ที่หน้าบรรพปูชานุสรณ์สถานนั้น บรรพบุรุษต้องเป็นฮ่องเต้มาก่อน หาไม่แล้วจะถูกเขาวิจารณ์นินทา ตามที่กรรมการผู้นี้กล่าวมาถือว่ามีเหตุผล แต่ ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ นายกสมาคม อธิบายถึงเหตุผลที่สามารถประดิษฐานกำแพง 9 มังกรว่า ” นอกจากแต้ฮวงกงบรรพบุรุษต้นตระกูลแต้ที่เป็นพระราชโอรสแล้ว ท่านทั้งหลายยังคงจำได้ประเทศไทยมีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ท่านเป็นวีรบุรุษชนชาติไทยขับไล่ทหารพม่ากอบกู้เอกราชของชาติไทยคืนมา โดยได้รับพระสมัญญามหาราชจากทวยราษฎร์ กษัตริย์ไทยทรงพระสมัญญานามมหาราช มีไม่กี่พระองค์ เท่าที่ทราบตามกฎราชสำนัก กษัตริย์ที่ทรงได้รับพระสมัญญามหาราชนั้น จะต้องมีคุณูปการต่อทวยราษฏร์อย่างใหญ่หลวง ด้วยเหตุผลที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นบรรพบุรุษตระกูลแต้จึงเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติในการสร้างกำแพง 9 มังกร ประดิษฐานไว้หน้าบรรพปูชานุสรณ์สถาน” กรรมการที่อยู่ในที่ประชุมได้ฟังคำอธิบายของ ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ แล้วต่างปรบมือไชโย ในที่สุดทุกคนจึงเห็นด้วยกับการสร้างกำแพง 9 มังกร

ความเป็นมาที่ ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ นายกสมาคม เสนอให้สร้างกำแพง 9 มังกรนั้นคือ คุณเฮ้งเป้งน้ำ ประธานวิเทศสัมพันธ์ปักกิ่ง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเพื่อนของ ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ เชื้อเชิญครอบครัวของ ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ ไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ขณะที่ ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ ไปชมพระราชวังเก่าปักกิ่งนั้น เห็นกำแพง 9 มังกรประดิษฐานอยู่ เป็นสถาปัตกรรมจีนโบราณ กำแพงมีมังกรทองห้าเล็บ 9 ตัว อยู่ในอิริยาบถที่แตกต่างกัน ช่างมีชีวิตชีวาเหมือนกับกำลังเริงร่าอยู่บนกำแพง ผู้ที่พบเห็นอดที่จะชื่นชมเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นประติมากรรมจีนโบราณที่เกิดจากภูมิปัญญาของชนชาติจีนไม่ได้ ดังนั้น ท่านจึงเสนอให้สร้างกำแพง 9 มังกรประดิษฐานไว้ ณ หน้าบรรพปูชานุสรณ์สถาน การสร้างกำแพง 9 มังกรเป็นงานที่ลำบากยากเย็นเหลือเกิน ก่อนอื่น ต้องสรรหาบริษัทก่อสร้าง แล้วมอบให้ผู้เชี่ยวชาญไปศึกษาออกแบบ จากนั้นจึงเลือกใช้วัสดุ รวมทั้งงบประมาณในการก่อสร้าง
คณะกรรมการได้ติดต่อกับวิเทศสัมพันธ์ปักกิ่ง เชิญเขาช่วยหาผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจสถานที่ๆ จะสร้างกำแพง 9 มังกรเสียก่อน หลังจากมาดูแล้วเสนอราคาสร้าง 12,000,000 บาท ยังไม่รวมค่าภาษีและค่าขนส่งวัสดุ ปรึกษากันแล้วเห็นว่าค่าใช้จ่ายมากและยุ่งยาก จึงตัดสินใจปฏิเสธการก่อสร้างรายนี้ ต่อมาสืบทราบว่าในเมืองไทยมีศาสตราจารย์ท่านหนึ่ง ชื่อว่า ดร.ทวี ไทยบริบูรณ์ เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มทาวิทยาลัยศิลปากร หลังจากพูดคุยกันแล้วท่านรับปากว่าจะช่วยสร้างให้ในราคาที่ถูกกว่าปักกิ่งมาก ตกลงกันเสร็จสรรพท่านก็เดินทางไปดูกำแพง 9 มังกรที่ปักกิ่งกับผู้ช่วย ได้ข้อมูลกลับมาเป็นอันมาก
งานก่อสร้างกำแพง 9 มังกรสามารถก่อสร้างได้สำเร็จด้วยความคิดที่ปราดเปรื่องและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของ ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ นายกสมาคม ประกอบกับบุญญาธิการของบรรพบุรุษที่คอยปกป้องคุ้มครอง บันดาลให้เราก่อสร้างกำแพง 9 มังกรได้สำเร็จ โดยเริ่มจากยากเป็นง่ายดาย จากซับซ้อนเป็นเรียบง่าย จากสิ้นเปลืองเป็นประหยัด (เดิม 12,000,000 บาทเป็น 1,800,000 บาท)
ข้างๆ บรรพปูชานุสรณ์สถานมีพื้นที่เล็กๆ ผืนหนึ่ง เดิมทีตั้งใจจะสร้างเป็นสหกรณ์ของผู้ร่วมตระกูล แต่ ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ เสนอสร้างเป็นศูนย์อนามัยเพื่อผู้ยากไร้จึงจะสอดคล้องเจตนารมณ์ของสมาคมที่มีวัตถุประสงค์ในการบำเพ็ญสาธารณกุศล ข้อเสนออันนี้จึงได้รับการสนับสนุนจากกรรมการอย่างท่วมท้น
ในที่สุด ศูนย์อนามัยอาคาร 3 ชั้นที่โออ่าตระการตาก็สร้างเสร็จ ก่อสร้างแบบผสมผสานระหว่างจีนกับตะวันตก หลังจากตกแต่งภายในเสร็จสรรพจึงมอบให้กรุงเทพมหานครดูแลต่อไป กรุงเทพมหานครจะเป็นผู้ติดตั้งเวชภัณฑ์และหาหมอพยาบาลมาประจำเพื่อรักษาผู้ป่วยที่ยากไร้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ทำพิธีมอบให้กรุงเทพมหานคร โดยผู้ว่ากรุงเทพมหานคร พลเอก บุญเทียม เป็นผู้รับมอบพร้อมกับวันทำพิธีเปิดบรรพปูชานุสรณ์สถาน

ขณะที่กำลังสร้างบรรพปูชานุสรณ์สถาน ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ ให้สร้างห้องโถงขึ้นมาห้องหนึ่ง เพื่อเป็นสถานที่ต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ แต่ห้องโถงจะตั้งชื่ออะไรดีเล่า ในที่สุดท่านจึงคิดขึ้นได้ สมัยเด็กเคยไปเป็นแขกที่จวนของบัณฑิตแต้ปังหยิม ที่หมู่บ้านซัวเล้ง มีห้องหนังสือชื่อว่า “เซี๊ยะลั้ง เฮียงก้วง” จากนี้คิดได้ว่าสัญลักษณ์ของสมาคมคือจือลั้ง ขณะที่แต้มกกงกำเนิด ห้องหับอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมของจือลั้งเช่นกัน ทันใดนั้น อุทานขึ้นมาว่าห้องโถงชั้น 2 ด้านหลังตั้งชื่อว่า “เซี๊ยะลั้งเฮียงก้วง” เหมาะที่สุด จึงได้ลงมือเขียนตัวอักษรด้วยตนเองภายในกึ่งกลางของห้องโถง ประดิษฐานด้วยภาพเขียนมหาอุปราชและแม่ทัพใหญ่ ก้วยจืองี้ ในราชวงศ์ถัง (อภินันทนาการโดย ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์) ขนาบด้วยกลอนคู่โดยลายมือของจ้อจงทั่ง ซึ่งเป็นมหาอุปราชและแม่ทัพใหญ่ของราชวงศ์เช็ง ส่วนพื้นปูด้วยพรมสีแดง ชุดรับแขกทำด้วยไม้ซึงกีสวยงามล้ำค่าประหนึ่งห้องหนังสือของบัณฑิตผู้สูงศักดิ์

ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ นายกสมาคม มีความดีความชอบต่อสมาคมอย่างใหญ่หลวง นำคณะกรรมการผู้ร่วมตระกูลช่วยกันทำงาน หาทุนทรัพย์ก่อสร้างบรรพปูชานุสรณ์สถาน สละเวลาอันมีค่าและทรัพย์สินส่วนตัว เพื่อก่อสร้างสมาคม โดยเฉพาะการก่อสร้างบรรพปูชานุสรณ์สถาน ท่านทุ่มเทชีวิตจิตใจและปฏิภาณเพื่อความสำเร็จและชื่อเสียงของสมาคมผู้ร่วมตระกูล นับเป็นคุณากรที่สมควรเทิดทูนสรรเสริญ ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการจึงมีมติให้ตั้งชื่อห้องโถงชั้นล่างของ “เชี๊ยะลั้งเฮียงก้วง” เป็น “โหงวเล้าตึ๊ง” เพื่อเป็นการสดุดี พร้อมทั้งประดิษฐานรูปหล่อทองแดงของใต้เท้า แต้จือปิง ซึ่งเป็นบิดาของท่านไว้ ณ กึ่งกลางของห้องโถง เพื่อเป็นการเชิดชูสำนึกในคุณูปการของใต้เท้าแต้จือปิง โดยไม่เสื่อมคลาย
นอกจากนี้ คณะกรรมการยังเชื้อเชิญ ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ นายกสมาคม ให้เกียรติเขียนชื่อป้าย “สมาคมเตชะสัมพันธ์” “เตชะบรรพปูชานุสรณ์สถาน” และวิหาร “ย่งเอี้ยงตึ๊ง” รวมทั้งกลอนคู่ที่สดุดีคุณูปการสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชด้วยอักษรจีน เพื่อประดิษฐานไว้ ณ ด้านหน้าของบรรพปูชานุสรณ์สถาน การเขียนลายมืออักษรวิจิตรศิลป์ของ ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ นายกสมาคม นับว่าเป็นหนึ่งในประเทศไทย ได้รับการชื่นชมว่าเป็นศิลปศาสตร์การเขียนภู่กันจีนแขนงหนึ่ง เป็นตัวอักษรที่อ่อนช้อยแต่ทรงพลัง มีชีวิตชีวาประหนึ่งโลดแล่นอยู่บนกระดาษ แฝงไว้ซึ่งจิตวิญญาณในตัวท่านทุกอิริยาบถ
บรรพปูชานุสรณ์สถานหันหน้าไปทางถนนพระราม 3 ที่กว้าง 500 เมตร ด้านหลังประชิดแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสิ่งปลูกสร้างที่โอ่อ่าอลังการ หนัาบรรพปูชานุสรณ์สถานเป็นลานกว้าง ประดิษฐานกำแพง 9 มังกรทอง 5 เล็บ สองข้างขนาบด้วยสิงโตศิลาคู่หนึ่ง ส่วนบนของบรรพปูชานุสรณ์สถานโลดแล่นด้วยหงส์ร่อนมังกรร่า เป็นประติมากรรมสลักนูนที่มีชีวิตชีวาสมจริง ภายในสร้างเป็น 3 ห้องโถง 2 ดาดฟ้า แกะสลักลงรักปิดทองเหลืองอร่ามตระการตา เป็นศิลปะจีนโบราณที่หาดูได้ยาก ส่วนวิหารย่งเอี้ยงตึ๊ง ประดิษฐานเจ้าประธาน 9 องค์ บรรพปูชานุสรณ์สถานที่มีพื้นที่ทั้งหมดรวม 12 ไร่ นับเป็นสมาคมที่ใหญ่ที่สุดในโลก วันสถาปนาบรรพปูชานุสรณ์สถาน ได้กราบเรียนเชิญ หลวงธำรง อดีตนายกรัฐมนตรี (แต้เลี้ยงต่ำ) และผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอกเสริม ณ นคร (ราชนัดดาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) เป็นประธานร่วมในพิธี อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ล้วนเป็นราชนัดดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ให้เกียรติมาเป็นองค์ประธาน นับเป็นดิถีในพิธีเฉลิมฉลองงานมงคล ร้อยปีจะมีสักหนก็ยังยาก นายกสมาคมสหพันธ์ตระกูลแต้สากล คุณหวังฮุน นำผู้ร่วมตระกูลทั่วโลกมาร่วมงานร่วมพันคน ร่วมทั้งผู้ร่วมตระกูลภายในประเทศอีก 4 พันคน เป็นงานเฉลิมฉลองสถาปนาบรรพปูชานุสรณ์สถานที่เอิกเกริกครึกครื้น และอบอวลด้วยกลิ่นไอรักใคร่ สนิทสนมกลมเกลียวของภูมิลำเนาเดิม นับเป็นเกียรติภูมิของผู้ร่วมตระกูลแต้และชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย