การเคารพนบนอบและเทิดทูนบูชาบรรพบุรุษ คือ วัฒนธรรมอันดีงามของชนชาติจีน เป็นรากฐานแห่งจิตวิญญาณที่ปลูกฝังมาช้านานโดยไม่เสื่อมคลาย

ดร.ซุนยัดเซ็น บิดาของประเทศจีน ได้ชี้แนะวิถีแห่งความสามัคคีให้ชาวจีนสำนึกอยู่เสมอว่า ความสามัคคีต้องกำเนิดจากครอบครัวเป็นอันดับแรก แล้วขยายออกไปสู่ผู้ร่วมตระกูลแซ่ จากผู้ร่วมตระกูลแซ่สู่ประเทศชาติ วิถีแห่งความสามัคคีแบบนี้ชาวจีนโพ้นทะเลได้ปฏิบัติมาโดยตลอด แต่ละตระกูลแซ่ในประเทศจีนล้วนมีต้นกำเนิดจากรากเหง้าเดียวกัน อาทิ บรรพบุรุษต้นตระกูลแต้มาจากต้นตระกูลแซ่กีในราชวงศ์โจว ส่วนต้นตระกูลกีสืบเชื้อสายมาจากต้นตระกูลอึ้งตี่ ดังนั้น หากสืบสาวรากเหง้าย้อนหลังไปร้อยปีพันปี สันนิษฐานได้ว่าชนชาติจีนในปัจจุบัน ล้วนสืบเชื้อสายมาจากตระกูลอึ้งตี่ทั้งสิ้น

ทัศนคติการเคารพนบนอบเทิดทูนบูชาบรรพบุรุษในสังคมจีน มีมาช้านาน ยุคโบราณกาลถือว่าผู้อาวุโสที่สุดในเผ่าพงศ์ คือผู้นำของศูนย์กลาง แต่การจัดระเบียบผู้ร่วมตระกูลอย่างจริง ๆ จัง ๆ เริ่มจากการจัดระบบผู้ร่วมตระกูลที่ราชวงศ์โจวได้บัญญัติไว้ กำหนดระบบกฎเกณฑ์ของบรรพบุรุษต้นตระกูลกับผู้ร่วมตระกูลไว้อย่างชัดเจน ใช้คำพูดปัจจุบันจำกัดความอย่างง่าย ๆ ก็คือ เหง้าบรรพบุรุษคือ รุ่นแรกของวงศ์ตระกูล ลูกหลานในตระกูลคือทายาทสืบตระกูล ทายาทสืบตระกูลแบ่งเป็นผู้สืบตระกูลอันดับแรกและผู้สืบตระกูลอันดับรอง บุตรชายหัวปีของภรรยาหลวงคือผู้สืบตระกูลอันดับแรก นอกนั้นจะเป็นบุตรชายคนที่สองหรือสามก็ตาม เป็นผู้สืบตระกูลอันดับรอง ด้วยเหตุนี้ระบบกฎเกณฑ์ในการจัดระเบียบการสืบวงศ์ตระกูลจึงมีความสำคัญมาก

ตระกูลแต้มีกำเนิดมาจากแต้ก๊ก บรรพบุรุษต้นตระกูลแต้คือ แต้ฮ้วงกง ผู้ครองแต๊ก๊กแต้ ฮ้วงกงที่มีชื่อเรียกว่า อิ้ว เป็นพระราชโอรสองค์สุดท้องของอ๋องลี่ในราชวงศ์โจว ต้นตระกูลของราชวงศ์โจวแซ่กี ดังนั้นเมื่อนำระบบกฎเกณฑ์การจัดระเบียบการสืบสันตติวงศ์มาลำดับ แต้ฮ้วงกงถือว่าเป็นผู้สืบสันติวงศ์อันดับรอง หลังจากอ๋องลี่สิ้นพระชนม์ราชบุตรหัวปีขึ้นครองราชย์แทน ทรงพระนามว่าอ๋องซวน ซึ่งเป็นทายาทผู้สืบสันตติวงศ์อันดับแรกถูกต้องตามครรลองครองธรรม

อ๋องซวนสนิทสนมรักใคร่กับฮ้วงกงผู้เป็นพระอนุชา ต่อมาอ๋องซวนมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งฮ้วงกงผู้เป็นพระราชอนุชา ให้เป็นเจ้าหัวเมืองปกครองแต้ก๊กตามระบบศักดินา ราชวงศ์โจวเป็นปีที่ 22 (ก่อน ค.ศ. 806) ของอ่วงซวน ขึ้นครองราชย์พื้นที่ ๆ ฮ้วงกงได้รับพระราชทานจากอ๋องซวน อยู่ใกล้เมืองหลวง เป็นพื้นที่ราบที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา ฮ้วงกงต้องไปบุกเบิกสร้างเมืองเอาเอง

หลังจากอ๋องซวนเสด็จสวรรคต อ๋องอิวขึ้นครองราชย์แทน ฮ้วงกงได้รับบัญชาให้เข้ารับราชการในตำแหน่งซือถูในราชสำนัก ขณะนั้นท่านเห็นว่าในราชสำนักมีแต่การแก่งแย่งชิงดีกัน เป็นภัยต่อราชวงศ์โจวไม่ช้าก็เร็ว ดังนั้นจึงได้วางแผนยุทธศาสตร์เพื่อกอบกู้อ๋องอิวในภายภาคหน้า ตนเองตัดสินใจย้ายจากแต้ก๊ก ไปสร้างเมืองใหม่ที่ลกอิบ (เมืองลกเอี๊ยงในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นแต้ก๊กในเวลาต่อมา

แต้ก๊กสืบสันตติวงศ์ติดต่อกัน 14 รัชสมัย ผ่านการปกครองแผ่นดินมา 23 เจ้าหัวเมือง รวม 431 ปี ครั้นถึงสมัยอ๋องโจวเลี่ยขึ้นครองราชย์ (ก่อน ค.ศ. 375) แต้คังกงผู้ครองแต้ก๊กขณะนั้นเห็นว่าแต็ก๊กถูกฮั่งกุ๊กรุกรานอยู่เป็นนิตย์ จึงย้ายไปสร้างเมืองที่อำเภอตังซ้ง (มณฑลฮ่อน้ำปัจจุบัน) ใช้ชื่อก๊กเป็นแซ่ ด้วยเหตุนี้ คนแต้ก๊กจึงเปลี่ยนมาใช้แซ่แต้กันหมดแต่นั้นมา นี่คือความเป็นมาของต้นกำเนิดตระกูลแต้โดยสังเขป

แต้ฮ้วงกง บรรพบุรุษต้นตระกูลแต้

Tae in Chiness แต้ฮ้วงกง บรรพบุรุษต้นกระกูลแต้ได้รับพระราชทานให้ปกครองแต้ก๊กเมื่อ 2,800 ปีก่อน นับเป็นประวัติศาสตร์อันยาวนาน ทายาทสืบสานตระกูลแต้รุ่นแล้วรุ่นเล่า มีทั้งนักปราชญ์ บัณฑิต ขุนนางผู้ใหญ่แม่ทัพอาชาไนย คฤหบดี พ่อค้าวานิช เป็นต้นมากมายเหลือคณานับ ในที่นี้จะกล่าวแต่ประวัติแต้ฮ้วงกงบรรพบุรุษต้นตระกูลแต้สถาปนาขึ้นปกครอง แต้ก๊กโดยสังเขปแต้ฮ้วงกงเดิมชื่ออิ้ว ฮ้วงกงคือพระสมัญญาหลังสิ้นพระชนม์แล้ว ท่านเป็นพระราชโอรสองค์สุดท้องของอ๋องลี่แห่งราชวงศ์โจว พระราชนัดดารุ่นที่ 11 ของอ๋องโจวบุ๋น ได้รับพระราชทานให้ปกครองแต้ก๊กเมื่อปีที่ 22 ของอ๋องโจวซาน ขึ้น ครองราชย์ (ก่อน ค.ศ. 806)

https://www.youtube.com/watch?v=P_afcet9zMs&t=7s

ราชวงศ์โจวปกครองด้วยระบอบศักดินา ขุนนางผู้ใหญ่และวงศ์ตระกูลกี หรือข้าราชการผู้ใหญ่ที่มีความดีความชอบล้วนได้รับพระราชทานให้ปกครองแผ่นดิน เป็นก๊กใหญ่ก๊กน้อย ซึ่งเรียกว่าเจ้าหัวเมือง แต้ฮ้วงกงได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ช้ากว่าผู้อื่นอีกทั้งอยู่ในระหว่างใกล้ล่มสลายของราชวงศ์โจว เหล่าเจ้าหัวเมืองต่างก็มีฐานปกครองที่เข้มแข็ง ส่วนในราชสำนักก็มีแต่การแก่งแย่งชิงดีกัน คิดทำลายฝ่ายตรงข้ามอยู่เป็นนิตย์ด้วยเหตุนี้ แต่ฮ้วงกงได้แผ่นดินปกครองในเมืองหลวงเพียงหยิบมือ หลังการปกครองและบริหารบ้านเมืองโดยเคร่งครัดตามครรลองขนบธรรมเนียม ประชาชนต่างอยู่เย็นเป็นสุขประกอบสัมมาอาชีพความขยันขันแข็ง บ้านเมืองมีบรรยากาศอบอุ่นครื้นเครง ท่านรู้สึกภาคภูมิใจและ ปลื้มปิติ แต่เมื่อเห็นเจ้าหัวเมืองทั้งหลายต่างแข็งข้อไม่เห็นราชสำนักอยู่ในสายตา จึงตั้งปณิธานว่าจะช่วยราชวงศ์โจวปฏิรูปการปกครองเสียใหม่ในภายภาคหน้า

หลังจากฮ่องเต้โจวซวนเสด็จสวรรคต รัชทายาทอิวขึ้นครองราชย์ ทรงเห็นการปกครองบ้านเมืองอย่างมีประสิทธิภาพของแต้ฮ้วงกง จึงมีพระบรมราชโองการให้ดำรงตำแหน่งซือถูในราชสำนัก ซือถู คือ 1 ใน 3 มหาอำมาตย์ของราชโจว กำกับดูแลฝ่ายการศึกษา ราชวงศ์โจวปกครองแผ่นดินโดยยึดถือครรลองขนบธรรมเนียมเป็นที่ตั้ง ดังนั้นตำแหน่งซือถูเคร่งครัดในครรลองขนบธรรมเนียม ซึ่งเป็นการปกครองที่ท่านยึดถือมาโดยตลอด จึงส่งผลให้การปกครองในราชสำนักของราชวงศ์โจวเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล

แต่น่าเสียดาย ฮ่องเต้ฮิว เป็นผู้ที่ไม่แสวงหาความก้าวหน้า ในการปกครองแผ่นดินได้แต่เสพสุขไปวัน ๆ ฟังแต่คำทูลเท็จของกังฉินเขียกเจี๊ยส่งผลให้เจ้าหัวเมืองน้อยใหญ่ตีตัวออก ห่าง แต้ฮ้วงได้เฝ้าทูลถวายคำแนะนำด้วยความจงรักภัคดีหลายต่อหลายครั้ง แต่ฮ่องเต้ฮิวทรงไม่ฟังแม้แต่น้อย ทำให้แต้ฮ้วงกงทุกข์ใจมาก

ขณะนั้น ในราชสำนักมีขุนนางผู้ใหญ่ท่านหนึ่งชื่อ แป๊ะเอี๊ยง เป็นขุนนางตงฉิน ท่านกับแต้ ฮ้วงกงรู้ดีว่าราชวงศ์โจวต้องเกิดจราจลในไม่ช้าอย่างแน่นอน จึงวางแผนช่วยราชวงศ์โจวพลิกฟื้นการปกครองเสียใหม่ หลังจากทั้งสองได้ปรึกษาหารือแล้วตัดสินใจจะย้ายแต้ก๊กไปตั้ง ณ ที่ ๆ มียุทธภูมิที่ได้เปรียบ คือ ต้องเป็นภูมิประเทศที่เมื่อเดินหน้าสามารถรุก เมื่อถอยหลังสามารถตั้งรับได้ เพื่อยึดเป็นฐานพลิกฟื้นราชวงศ์โจว ท่านแป๊ะเอี๊ยงจึงชี้แนะให้แต้ฮ้วงกงย้ายแต้ก๊กไปตั้ง ณ ทิศตะวันออกของลกอิบและอยู่ที่ทิศใต้ของห่วงฮ้อ เนื่องจากที่นั้นนอกจากเป็นภูมิประเทศที่ได้เปรียบด้านฤดูกาล ชัยภูมิ จิตใจคนที่มั่นคง แล้วยังมีผลดีอีกประการหนึ่งคือสามารถเป็นโล่กำบังต่อต้านการบุกรุกของศัตรู ทิศตะวันออกได้

แต้ฮ้วงกงรับคำชี้แนะของแป๊ะเอี๊ยง หลังเข้าเฝ้าฮ่องเต้อิวทูลขอพระบรมราชานุญาตย้ายเมืองแต้ก๊ก แล้วจึงนำสมาชิกในตระกูลแต้และประชาชนส่วนหนึ่ง ไปสร้างเมืองใหม่ที่ด้านตะวันออก โดยตั้งเมืองหลวงที่อำเภอเอี๊ยง มณฑลฮ่อน้ำ ต่อมาก๊กไกวและก๊กเขียกได้บริจาคพื้นที่ให้แต้ ฮ้วงกง รวม 10 หัวเมืองโดยสมัครใจ แต้ฮวงกงจึงได้สร้างรากฐานแต้ก๊กขึ้นมาใหม่

หลังจากแต้ฮวงกงได้วางรากฐานเสร็จสรรพ แล้วจึงให้กุ๊กตุ๊กซึ่งเป็นพระราชโอรสช่วยดูแลแต้ก๊กแทน ส่วนพระองค์ท่านกลับไปช่วยราชการในราชสำนัก ขณะนั้นฮ่องเต้อิวได้แต่เชื่อคำยุยงส่งเสริมของผู้ไม่หวังดี หลงไหลพระสนมเพาเสือ ถึงกับปลดฮองเฮาและรัชทายาท อีกทั้งทรงเแกล้งเผาสัญญาณไฟเพื่อหลอกลวงให้เจ้าหัวเมืองมาช่วยรบทัพจับศึก เก้อ เจ้าหัวเมืองซิงโฮ้วโกรธแค้นมาก จึงได้ร่วมมือกับคนตระกูลเคียงย้งยกทัพมาตีเมืองหลวงราชสำนักโจว

ขณะนั้น สถานการณ์ปะทุขึ้นเร็วมาก แต้ฮ้วงกงไม่ทันได้ตั้งตัวฐานกำลังทัพของพระองค์ยังไม่เข้มแข็ง พวกที่มีฐานกำลังพลเข้มแข็งต่างไม่มาช่วยเนื่องจากเกรงว่าจะถูกหลอกอีก ทัพของแต้ ฮ้วงกงจึงตกอยู่ในวงล้อมของข้าศึกแต่โดดเดี่ยว เมื่อเมืองหลวงแตกแต้ฮ้วงจึงถวายอารักขาฮ่องเต้อิวหนีไปประทับที่หลีซัว แต่ต้องประสบเคราะห์กรรมเพราะข้าศึกไล่ประชิดปลงพระชนม์ฮ่องเต้ฮิว แต่ฮ้วงกงถึงกับเฝ้าอารักจนสิ้นพระชนม์ชีพเมื่อราชวงศ์โจวอย่างห้าวหาญ

ขณะที่ราชวงศ์โจวใกล้ล่มสลาย ฐานทัพแต้ก๊กใหม่มีกำลังเข้มแข็งทันการพอดี รัชทายาทงี้ขูได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหัวเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะแต้ก๊ก ต่อมารัชทายาทสถาปนาขึ้นครองราชย์เป็นฮ๋องเพ้ง ย้ายเมืองหลวงไปตั้งที่ลกอิบ (ลกเอี๊ยงในปัจจุบัน) อาศัยการคุ้มครองของแต้ก๊ก พลิกฟื้นราชวงศ์โจวขึ้นใหม่อีกคำรบหนึ่ง

ราชวงศ์โจวสามารถสืบสันตติวงศ์ได้เพราะปฏิภาณของแต้ฮ้วงกงที่ช่วยวางแผนไว้เมื่อครั้งอดีต หากแม้นในอดีตไม่มีแต้ฮ้วงกงราชวงศ์โจวคงล่มสลายแล้ว และหากแม้นแต้ฮ้วงกงไม่มีสายตาที่ยาวไกลและคมกริบ พระองค์ท่านคงต้องสิ้นพระชนม์พร้อมกับการล่มสลายของต้นราชวงศ์โจว ขณะที่ถูกข้าศึกเคียงย้งรุกราน ในอดีตแซ่ของตระกูลแต้คงไม่มีโอกาสจารึกไว้ในทำเนียบตระกูลแซ่จวบจนปัจจุบัน