ข้อบังคับของชมรมฯ
ข้อบังคับของชมรมนวเตชะสัมพันธ์ (พุทธศักราช 2543)
หมวดที่ 1 หลักการทั่วไป
ข้อ 1. ชื่อ “ชมรมนวเตชะสัมพันธ์” (ภาษาจีน: )
ข้อ 2. สัญลักษณ์ของชมรมฯ ใช้สัญลักษณ์ของสมาคมเตชะสัมพันธ์ โดยมีชื่อชมรมฯอยู่ด้านล่าง
ข้อ 3. ที่ทำการชมรมฯ ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 27/4 ถนนรัชดาภิเษก แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ 10120
ข้อ 4. วัตถุประสงค์
4.1 เสริมสร้างความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องร่วมตระกูลแต้
4.2 เปิดโอกาสให้สมาชิกแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ ทั้งในการดำรงชีวิตและทางการค้า
4.3 มีกิจกรรมสันทนาการและสังสรรในเชิงสร้างสรรค์
4.4 สนองนโยบาย รองรับงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริหารของสมาคมฯ และร่วมในกิจกรรมของสมาคมฯเมื่อมีโอกาส
หมวดที่ 2 สมาชิก
ข้อ 5. สมาชิกของชมรมฯประกอบด้วย
5.1 สมาชิกสามัญ บรรดาบุตรหลานตระกูลแต้ ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ไม่จำกัดสัญชาติ เพศ มีความประพฤติเรียบร้อย ปฏิบัติตามข้อบังคับของชมรมฯ เมื่อมีสมาชิกสองคนเป็นผู้แนะนำจึงมีสิทธิ์สมัครเป็นสมาชิกของชมรมฯ
5.2 กรรมการ สมาชิกสามัญที่ได้รับการเสนอชื่อ และรับรองจากที่ประชุมสมาชิกชมรมฯ
5.3 กรรมการบริหาร กรรมการคัดเลือกจากที่ประชุมกรรมการชมรมฯ หรือ ที่ปรึกษาที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริหารของสมาคมฯ
ข้อ 6. สมาชิกจะพ้นจากสมาชิกภาพโดยเหตุหนึ่งเหตุใดดังต่อไปนี้ คือ
6.1 ฝ่าฝืนกฎข้อบังคับชมรมฯ ทำลายชื่อเสียงของชมรมฯ ล่วงเกินสิทธิผลประโยชน์ชมรมฯ
6.2 ถึงแก่กรรม
6.3 ลาออกจากสมาชิกภาพโดยความสมัครใจ
6.4 ที่ประชุมกรรมการบริหารมีมติให้ขาดสมาชิกภาพ
หมวดที่ 3 องค์กรและอำนาจหน้าที่
ข้อ 7. ที่ประชุมกรรมการชมรมฯ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
7.1 จัดทำและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของชมรมฯ
7.2 กำหนดหลักการนโยบายของชมรมฯ
7.3 เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารไม่น้อยกว่า 11 คน
7.4 พิจารณางบประมาณ รายรับ-รายจ่าย และอนุมัติงบการเงิน
7.5 ดำเนินกิจการทั้งปวงของชมรมฯ
7.6 จัดโครงการและพัฒนากิจกรรมต่างๆ
ข้อ 8. คณะกรรมการบริหาร
8.1 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร เลือกตั้ง ประธาน 1 คน รองประธานไม่น้อยกว่า 2 คน เลขาธิการ 1 คน เหรัญญิก 1 คน ผู้ตรวจสอบภายใน 1 คน
8.2 กรรมการบริหารมีอำนาจหน้าที่ดังนี้
8.2.1 ประธานและรองประธาน มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการของชมรมฯ ให้เป็นไปตามข้อบังคับและระเบียบในการปฏิบัติงาน เป็นผู้แทนของชมรมฯ ลงนามในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก
8.2.2 เลขาธิการ มีหน้าที่จัดเก็บเอกสารทั้งมวลของชมรมฯ และงานที่ได้รับมอบหมายจากประธาน รองประธาน และลงนามในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก
8.2.3 เหรัญญิก มีหน้าที่ดูแลการรับ-จ่ายเงินของชมรมฯ รักษาตั๋วเงิน หนังสือสัญญา และลงนามในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก
8.2.4 ผู้ตรวจสอบภายใน มีหน้าที่ตรวจสอบการรับ-จ่ายเงินทั้งหมดของชมรมฯ
8.2.5 คณะกรรมการบริหารสามารถจัดตั้งอนุกรรมการและคณะทำงานฝ่ายต่างๆ ในชมรมฯตามที่ประชุมกรรมการบริหารเห็นชอบ
8.3 คณะกรรมการบริหารย่อมพ้นจากสภาพการดำรงตำแหน่ง ในกรณีดังต่อไปนี้
8.3.1 ครบวาระ 2 ปี
8.3.2 ลาออก
8.3.3 ถึงแก่กรรม
8.3.4 ต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกหรือเป็นบุคคลล้มละลาย
8.4 เมื่อกรรมการบริหารขาดจากตำแหน่ง ให้อำนาจคณะกรรมการบริหารแต่งตั้งผู้ที่เหมาะสม ขึ้นดำรงตำแหน่ง
หมวดที่ 4 การประชุม
ข้อ 9. การประชุมสามัญประจำปีของสมาชิกชมรมฯจัดให้มีปีละ 1 ครั้ง ให้คณะกรรมการบริหารกำหนดวันประชุม โดย แจ้งแก่บรรดาสมาชิกล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน เมื่อมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 20 คนเข้าประชุมจึงจะครบองค์ประชุม ส่วนการประชุมวิสามัญถ้ามีกรรมการไม่ต่ำกว่า 5 คนเข้าชื่อ ทำหนังสือระบุเหตุผลร้องขอต่อคณะกรรมการบริหาร ให้เรียกประชุมภายใน 30 วันและต้องมีองค์ประชุมตามที่กำหนด สมาชิกจะต้องเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้สมาชิกท่านอื่นเข้า ประชุมแทน
ข้อ 10. มติที่ประชุมทุกข้อให้ใช้เสียงข้างมากจึงมีผลบังคับใช้ หากคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานที่ประชุมเป็นผู้ออกเสียงชี้ขาด องค์ประชุมกรรมการบริหาร ให้ปฏิบัติตามระเบียบประชุมกรรมการ
ข้อ 11. องค์ประชุมกรรมการให้ปฏิบัติตามระเบียบการประชุมสมาชิก
ข้อ 12. องค์ประชุมคณะกรรมการบริหาร กรรมการบริหารที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง จึงจะครบองค์ประชุม
ข้อ 13. ในการประชุมแต่ละครั้งให้ที่ประชุมเสนอเพื่อเลือกประธานที่ประชุม
หมวดที่ 5 การดำรงตำแหน่งกรรมการ
ข้อ 14. คณะกรรมการ มีวาระการดำรงตำแหน่งได้ครั้งละ 2 ปี
ข้อ 15. คณะกรรมการบริหารมีวาระดำรงตำแหน่งได้ครั้งละ 2 ปี ประธานกรรมการบริหารดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ
หมวดที่ 6 การเงิน
ข้อ 16. วิธีการดำเนินทางการเงินของชมรมฯ มีดังต่อไปนี้คือ
16.1 รายรับทั้งหมดต้องฝากเข้าบัญชีธนาคารซึ่งคณะกรรมการบริหารกำหนดขึ้น
16.2 เหรัญญิกมีหน้าที่เบิกเงินฝากจากธนาคารตามหนังสือสั่งจ่ายจากผู้มีอำนาจอนุมัติ
16.3 ประธาน มีอำนาจสั่งจ่ายได้ไม่เกิน 5,000 บาทต่อเรื่องที่ขอเบิก รองประธานมีอำนาจสั่งจ่ายได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเรื่องที่ขอเบิก กรรมการบริหารที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุม 2 ท่าน สั่งจ่ายได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเรื่องที่ขอเบิก กรณีการสั่งจ่ายเงินเกิน 5,000 บาท ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมกรรมการบริหาร
16.4 ประธาน หรือ รองประธาน ท่านใดท่านหนึ่ง ลงนามร่วมกับ เหรัญญิก ในการเบิกเงินฝากจากบัญชีธนาคาร