สถาบันครอบครัว คือกำลังหลักของสังคม

สถาบันครอบครัว คือกำลังหลักของสังคม

สถาบันครอบครัว (Family Unit) ถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะกำหนดอนาคตความเป็นไปของสังคม  ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัส มีใจความว่า

ความเป็นครอบครัวที่เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกันระหว่างเครือญาติ คือจุดแข็งของคนไทย ที่ยากจะหาได้ในสังคมตะวันตก ถ้าครอบครัวเข้มแข็ง คนในครอบครัวได้รับการบ่มเพาะให้เติบโตมาเป็นคนดี สังคมก็ยากที่จะอ่อนแอ  ตรงกันข้ามถ้าครอบครัวอ่อนแอ ขาดการอบรมสั่งสอนให้เด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตนั้น เป็นคนมีศีลธรรม ก็ยากที่สังคมนั้นจะเข้มแข็ง

 

ผู้ใหญ่ในครอบครัวที่สามารถอบรมสมาชิกให้เป็นเด็กดี มีวินัย และมีศีลธรรมตั้งแต่อายุยังน้อย ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อคุณภาพของสังคมในอนาคต  เพราะความดี หากถูกปลูกฝังอยู่ในทัศนคติ(สันดาร)ของคนๆนั้น แม้เวลาจะผ่านไปนานเท่าไรก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปลี่ยนแปลงทัศนคตินั้น ส่วนความเก่งเป็นเรื่องของทักษะ ซึ่งทักษะสามารถฝึกฝนได้ง่ายกว่าการพยายามเปลี่ยนแปลงลักษณะนิสัยของคนๆหนึ่ง

ผมโชคดีที่ได้รู้จักครอบครัวหนึ่งอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นครอบครัวที่มีคุณภาพ มีความเข้มแข็ง ซึ่งผมเชื่อว่าครอบครัวนี้สามารถเป็น’ครอบครัวตัวอย่าง’ให้กับสังคมได้  ผู้ใหญ่ ผู้อาวุโสของครอบครัวนี้ เป็นคนที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ผลลัพธ์ที่ดีจึงตกมาอยู่กับสมาชิกรุ่นลูก รุ่นหลาน

ครอบครัวนี้เป็นครอบครัวใหญ่ ซึ่งมีนโยบายการพบปะกันระหว่างสมาชิกเดือนละหนึ่งครั้ง และทุกเทศกาลสำคัญๆเป็นอย่างน้อย โดยสมาชิกทุกคนให้ความสำคัญกับวันนี้ และมักจะไม่พลาดการนัดหมาย ซึ่งเป็นอย่างนี้มาต่อเนื่องยาวนาน  วันนั้นจะเป็นวันที่สมาชิกของครอบครัวหลายสิบหรือเกือบร้อยชีวิต ทั้งผู้อาวุโส ผู้ใหญ่ วัยรุ่นและเด็กเล็ก ได้พบปะกัน ปรับทุกข์ คุยสุขซึ่งกันและกัน ส่วนเด็กๆนอกจากจะได้ทำกิจกรรมร่วมกันแล้ว ยังได้ทยอยซึมซับวัฒนธรรมครอบครัวที่อบอุ่น ซึ่งผู้ใหญ่ได้วางแนวทางไว้ให้เป็นอย่างดี  เมื่อสมาชิกจำนวนมากได้พบปะกันอย่างต่อเนื่องความสามัคคีเดิมที่มีอยู่ ก็ยิ่งพัฒนาให้เกิดความเหนียวแน่นมากขึ้น
ครอบครัวที่จะทำแบบนี้ให้ประสบความสำเร็จได้ต้องประกอบด้วยปัจบัยสำคัญ 2 ประการ

  1. ต้องเป็นครอบครัวที่สมาชิกมีวินัยและมีความรักใคร่สามัคคีกัน
  2. ต้องเป็นครอบครัวที่มีรายได้ดี คือ มีรายรับมากกว่ารายจ่าย

ทั้ง 2 ปัจจัยนี้ จะขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไปไม่ได้ เพราะบางครอบครัวที่สมาชิกมีความรักใคร่กัน แต่หากมีรายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย ลำพังแค่ต่างคนต่างทำมาหากิน ปากกัดตีนถีบ ก็แทบไม่มีเวลาให้ตัวเองแล้ว จึงเป็นเรื่องยากที่จะจัดสรรเวลาการพบปะกับสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆอย่างพร้อมหน้าเป็นการประจำได้ แต่ที่เลวร้ายยิ่งกว่า คือ ครอบครัวที่มีรายได้ดี มีทรัพย์สินมากมาย แต่สุดท้ายสมาชิกไม่มีความสามัคคี บางทีก็มีความบาดหมางกันถึงขั้นเลือดตกยางออก เพราะฉะนั้นจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้ครอบครัวกลับมาเข้มเข็งและอบอุ่นได้ดังเดิม
แต่ใช่ว่าเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่อ่อนแอ จะเติบโตเป็นคนมีคุณภาพไม่ได้ เพียงแต่ว่าครอบครัวที่เข้มแข็งนั้น อาจมีโอกาสมากกว่าที่จะบ่มเพาะให้ลูกหลานเป็นคนดีของสังคม

สิ่งที่สำคัญก็คือ เมื่อไหร่ที่คนที่มีโอกาสดีกว่า มีโอกาสมากกว่าคนอื่นในสังคม สามารถแบ่งปันโอกาสเหล่านั้นให้คนที่ขาดแคลนกว่าได้ เพื่อบรรเทาความเหลื่อมล้ำและช่วยลดภาระปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ถ้าทำได้อย่างต่อเนื่องและเป็นวงกว้างแล้ว หลายปัญหาสังคมคงจะค่อยๆลดลง สวัสดิภาพความเป็นอยู่ก็จะดีขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อทุกคน รวมถึงคนที่ได้ปันโอกาสนั้นออกไปด้วย

เขียนโดย TLTG – Juttasipos Lertchaiprasert ที่ 22:19:00